Friday, May 17, 2013

สายพันธุ์มะเฟือง


สายพันธุ์มะเฟือง
ต้นมะเฟืองมีรูปทรงสวยงาม ปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้ หรือปลูกเป็นไม้เก็บผลก็ดี
ประเทศไทยปลูกมะเฟืองกันหลายสายพันธุ์ ได้แก่

  • มะเฟืองเปรี้ยว เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของประเทศไทย มีทั้งชนิดผลใหญ่และเล็ก
  • มะเฟืองพันธุ์ไต้หวัน ขนาดผลใหญ่พอประมาณ กลีบผลบาง ขอบบิด มีรสหวาน
  • มะเฟืองพันธุ์กวางตุ้ง มีสีขาวนวล ขอบกลีบผลสีเขียว มีรสหวาน
  • มะเฟืองพันธุ์มาเลเซีย ผลมีขนาดใหญ่ เนื้อฉ่ำน้ำ น้ำหนักมาก มีรสหวานอมเปรี้ยว
มะเฟืองสามารถกินเป็นผลไม้ก็ได้ ปรุงเป็นกับข้าวก็ดี
การกินมะเฟืองของคนไทยมีหลายรูปแบบ เช่น กินผลมะเฟืองสด ใช้เป็นเครื่องเคียงอาหาร (เครื่องเคียงแหนมเนือง) หรือจะแปรรูปเป็นน้ำผลไม้

mafuangdok

ใบอ่อนของมะเฟืองกินเป็นผักได้

ที่ต่างประเทศนำมะเฟืองมาปรุงอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด พบทั้งเป็นส่วนประกอบในสลัดกุ้งก้ามกราม เป็นเครื่องเคียงอาหารเนื้อสัตว์ (ปลา หมู ไก่) ใช้แทนสับปะรดในอาหารจำพวกผัดผัก และเมนูอาหารอบ ปรุงผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เช่น ทำแยม ทาร์ตและเค้ก และพบในเครื่องดื่มต่างๆ

สรรพคุณทางยา
ภูมิปัญญาไทยมีการใช้มะเฟืองสืบทอดกันมา ดังนี้
  • ผลมะเฟือง ดับกระหาย แก้ร้อนใน ลดความร้อนภายในร่างกาย บรรเทาอาการของนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ขับเสมหะ ใช้ขจัดรังแค บำรุงเส้นผม ช่วยให้เลือดแข็งตัวง่าย ช่วยระงับความฟุ้งซ่าน ช่วยให้หลับง่ายขึ้น และบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน
  • ใบและราก ปรุงกินเป็นยาดับพิษร้อน แก้ไข้ ใบสดตำใช้พอกตุ่มอีสุกอีใสและกลากเกลื้อน
  • ใบต้มน้ำอาบแก้ตุ่มคัน
  • ใบอ่อนและรากมะพร้าว ผสมรวมกันต้มดื่มแก้ไข้หวัดใหญ่
  • แก่นและราก ต้มกินแก้ท้องร่วง แก้เส้นเอ็นอักเสบ
ประโยชน์ต่อสุขภาพ
มะเฟืองมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชันสูง มีสารกลุ่มโพลีฟีนอลซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันมาก สารสำคัญในกลุ่มนี้ที่พบในมะเฟือง ได้แก่ กรดแอสคอบิก อีพิคาทีชิน และกรดแกลลิกในรูปของแกลโลแทนนิน

mafuangdoa

สารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันจากมะเฟือง คือ โพรแอนโทไซยาไนดินในรูปของโมเลกุลคู่ โมเลกุล 3 4 5 (dimers, trimers, tetramers and pentamers) ของคาทีชินหรืออีพิคาทีชิน
นอกจากนี้ มะเฟืองมีวิตามินซีมาก บรรเทาโรคเลือดออกตามไรฟัน มะเฟืองมีปริมาณพลังงาน น้ำตาลและเกลือโซเดียมต่ำ เหมาะกับการกินเพื่อควบคุมน้ำหนัก คุมน้ำตาลในเลือด หรือลดความอ้วน มีกรดผลไม้มาก ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางชำระล้างผิวกายและป้องกันการเกิดสิว

ฤทธิ์ลดน้ำตาลและสร้างไกลโคเจน
งานวิจัยจากประเทศบราซิลในปีนี้พบว่าอนุพันธ์กลูโคไพแรนโนไซด์ของเอพิจีนิน (apigenin-6-C-beta-l-fucopyranoside) ที่ได้จากผลมะเฟืองมีผลทันทีในการลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน ไกลโคไซด์ดังกล่าวกระตุ้นการหลั่งอินซูลินชนิดที่ถูกกระตุ้นโดยกลูโคส และมีผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อ soleus
ผลในการสังเคราะห์ไกลโคเจนในกล้ามเนื้อถูกยับยั้ง เมื่อมีการใช้สารยับยั้งการส่งผ่านสัญญาณสู่อินซูลิน (insulin signal transduction inhibitor) ฟลาโวนอยด์จากมะเฟืองจึงมีฤทธิ์เป็นทั้ง antihyperglycemic (insulin secretion) และ insulinomimetic (glycogen synthesis)

เส้นใยอาหารจากมะเฟือง

งานวิจัยจากไต้หวันพบว่าเนื้อผลของมะเฟืองมีปริมาณเส้นใยไม่ละลายน้ำสูง ส่วนใหญ่เป็นเพ็กทินและเฮมิเซลลูโลส เส้นใยเหล่านี้มีค่าทางเคมีและกายภาพ ได้แก่ ค่าการอุ้มน้ำ คุณสมบัติในการบวม การแลกเปลี่ยนสารมีประจุ สูงกว่าค่าที่ได้จากเซลลูโลส ปัจจัยดังกล่าวทำให้เส้นใยมะเฟืองมีความสามารถในการดูดซับกลูโคส และลดการทำงานของเอนไซม์อะไมเลส จึงน่าจะช่วยคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดหลังอาหารได้

mafuangpon

งานวิจัยดังกล่าวจึงแนะนำให้ใช้เส้นใยจากผลมะเฟืองเป็นสารพลังงานต่ำที่ ทำให้อิ่มเร็ว ใช้กินโดยตรงหรือเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ได้
จึงขอแนะนำผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักให้เลือกกินมะเฟืองผลไม้อุดมค่าชนิดนี้
คนที่มีสุขภาพดีอยู่แล้วก็น่าจะเพิ่มคุณค่าของมะเฟืองเป็นรายการผลไม้ประจำวันได้เพราะมะเฟืองให้ผลตลอดปี

0 comments:

Post a Comment